จีน

ความสัมพันธ์อาเซียน-จีนเริ่มขึ้นเมื่อปี 2534 (ค.ศ. 1991) โดยในปี 2549 (ค.ศ. 2006) ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ที่นครหนานหนิง เพื่อฉลองการครบรอบ 15 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ฯ โดยผู้นำอาเซียนและจีนได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนสำหรับ 15 ปีข้างหน้า จีนเป็นประเทศคู่เจรจาประเทศแรกที่ภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ในปี 2546 และยังเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ประเทศแรกที่แสดงความพร้อมที่จะลงนามในพิธีสารต่อท้ายสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Protocol to the Treaty of Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone) นอกจากนี้ จีนยังเป็นประเทศคู่เจรจาประเทศแรกที่เสนอให้มีการทำความตกลงการค้าเสรีกับอาเซียน โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามใน ASEAN-China Framework Agreement on Economic Cooperation เมื่อปี 2545 วางเป้าหมายให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนกับประเทศสมาชิกอาเซียนเก่า (6 ประเทศ) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2553 (ค.ศ. 2010) และกับประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ (CLMV) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015) โดยความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าได้มีลงนามไปเมื่อปี 2547 และความ ตกลงด้านการค้าบริการได้ลงนามไปเมื่อเดือน ม.ค. 2550 การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนที่มีประชากรรวมกัน 1.85 ล้านคน จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตและเป็นที่น่าสนใจเข้ามาทำการค้าและการลงทุนโดยประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาค ในปี 2550 การค้าระหว่างอาเซียนและจีนมีมูลค่าประมาณ 2.02 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.9% จากปี2549 ซึ่งมีมูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบรรลุเป้าหมายที่อาเซียนและจีน ตั้งไว้ คือ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2548 โดยในปี 2550 อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของจีน รองจาก สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 5 ของจีน รองจาก สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และญี่ปุ่น นอกจากนี้ จีนยังเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญของอาเซียน โดยในปี 2548 มีมูลค่าการลงทุนเป็นจำนวนเงิน 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การลงทุนของจีนในอาเซียนยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนของอาเซียนในจีน อาเซียนจึงพยายามสนับสนุนให้จีนเพิ่มการลงทุนในภูมิภาค ให้มากขึ้นอาเซียนและจีนได้กำหนดให้มีความร่วมมือกันใน 10 สาขาหลักได้แก่ เกษตร เทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลงทุน การพัฒนาลุ่มน้ำโขง การคมนาคมขนส่ง พลังงาน วัฒนธรรม สาธารณสุข และการท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 11 เมื่อเดือน พ.ย. 2550 ณ สิงคโปร์ ที่ประชุมเห็นพ้องให้บรรจุความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสาขาที่ 11 ของความร่วมมือสาขาหลักด้านการพัฒนาด้วย อาเซียนและจีนกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาจัดทำบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ ได้แก่ (1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์อาเซียน-จีน ที่กรุงปักกิ่ง (2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา และ (3)บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสารสนเทศและสื่อสารมวลชน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายกำลังเร่งสรุปผลการเจรจาการจัดทำความตกลงด้านการลงทุนในด้านคมนาคม ไทยได้เริ่มโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่เชื่อมระหว่าง อ. เชียงของ จ. เชียงราย กับบ้านห้วยทรายของลาวแล้ว ซึ่งจะเป็นการเชื่อมเส้นทางคมนาคทางบกสู่จีนตอนใต้ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้าง คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2554 การเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมระหว่างอาเซียนกับจีนตอนใต้นั้น ไทยจะได้รับประโยชน์โดยตรงในการพัฒนาให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการค้าและการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นตามเส้นทางคมนาคมระหว่างอาเซียน-จีนตอนใต้ได้ จีนมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะภาคตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับอาเซียน เพื่อลดความเลื่อมล้ำของการพัฒนาที่อาจส่งผลในเชิงลบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงภายในประเทศ จีนหวังที่จะเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับอาเซียนในทุกๆ ด้าน โดย ยึดหลักการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีระหว่างกัน (good neighbourly relations) เป้าหมายของจีนจึงสอดคล้องกับอาเซียนที่ต้องการมีความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนกับมหาอำนาจในภูมิภาค เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับเสถียรภาพและความมั่นคงภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อ้างอิง http://www.pyp.ac.th/asean/relationship/china.php

ใส่ความเห็น