สหรัฐอเมริกา

ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2520 โดยในช่วงแรกเป็นความร่วมมือด้านการพัฒนา ต่อมาขยายถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันสหรัฐฯ เน้นการหารือด้านการเมืองและความมั่นคงกับอาเซียน ในขณะที่อาเซียนยังต้องการความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาและปรารถนาที่จะหารือด้านเศรษฐกิจและการค้ากับสหรัฐฯ ในลักษณะกลุ่มประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายบรรลุถึงจุดสูงสุดเมื่อมีการประกาศแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูน (Joint Vision Statement on ASEAN-US Enhanced Partnership) ในวันที่ 17 พ.ย. 2548 และในปี2549 ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียน-สหรัฐฯ เพื่อดำเนินตามแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฯ ในช่วงที่ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ (ก.ค. 2546-ก.ค. 2549) ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์จนถึงกลางปี 2552 ด้านการเมือง หลังเหตุการณ์ 9/11 ปี 2544 อาเซียนและสหรัฐฯ มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดในการต่อต้านการก่อการร้ายโดยได้จัดทำปฏิญญาร่วมอาเซียน-สหรัฐฯ เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ (ASEAN-US Joint Declaration for Cooperation to Combat International Terrorism) เมื่อปี 2545 และร่วมมือกันอย่างแข็งขันในกรอบ ASEAN Regional Forum (ARF) ด้านเศรษฐกิจ อาเซียนและสหรัฐฯ ได้ลงนามใน ASEAN-US Trade and Investment Framework Arrangement เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ในด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา สหรัฐฯ ได้เสนอ ASEAN Cooperation Plan (ACP) ในปี 2544 โดยมีเป้าหมายหลักที่จะร่วมมือกับอาเซียนในเรื่องการรวมตัวของอาเซียน ปัญหาข้ามชาติ และการเสริมสร้างประสิทธิภาพของสำนักเลขาธิการอาเซียน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้แต่งตั้ง Mr. Scot Marciel, Deputy Assistant Secretary for Southeast Asia ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตกิจการอาเซียน โดยรัฐสภาสหรัฐฯ ได้ลงมติเห็นชอบเมื่อ 29 เม.ย. 2551 จึงนับเป็นประเทศคู่เจรจาประเทศแรกที่มีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตกิจการอาเซียน แม้ว่าที่ผ่านมาความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ มีลักษณะขึ้นๆ ลงๆ ตามสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ แต่สหรัฐฯ ยังคงต้องการมีความร่วมมือกับอาเซียนเพื่อรักษาบทบาทของตนในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ในขณะที่ฝ่ายไทยหวังที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ มากขึ้นในเรื่องการจัดการภัยพิบัติ แผนปฏิบัติการอาเซียน-สหรัฐฯ จะทำให้ไทยและอาเซียนสามารถร่วมมือกับสหรัฐฯ เรียนรู้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของสหรัฐฯ ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะ ใน 8 สาขาความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข การศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ การคมนาคม พลังงาน การจัดการภัยพิบัติ และสิ่งแวดล้อม

อ้างอิง http://www.pyp.ac.th/asean/relationship/usa.php

ใส่ความเห็น